เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 2. สารีปุตตเถรคาถา
[978] ภัยอย่างใหญ่หลวงซึ่งยังมาไม่ถึงนี้ จะมาถึงข้างหน้า
ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ว่าง่าย พูดจาอ่อนหวาน
มีความเคารพกันและกัน
[979] มีจิตเมตตากรุณา สำรวมในศีล
ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
บากบั่นมั่นคงเป็นประจำเถิด
[980] ขอชนทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยเป็นสิ่งที่น่ากลัว
และเห็นความไม่ประมาทโดยเป็นสิ่งที่เกษม
แล้วบำเพ็ญอัฏฐังคิกมรรคที่จะบรรลุอมตบท1ได้

2. สารีปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสารีบุตรเถระ
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[981] ผู้ใดมีสติประพฤติเหมือนผู้สำรวมกาย เหมือนสัตบุรุษ
ไม่ประมาท เหมือนผู้สำรวมความคิด
ยินดีในการเจริญกรรมฐานไว้ภายใน
มีจิตตั้งมั่นดีอยู่ผู้เดียว สันโดษ
นักปราชญ์ทั้งหลาย เรียกผู้นั้นว่าเป็นภิกษุ
[982] ภิกษุ เมื่อฉันอาหารสดก็ตาม แห้งก็ตาม
ไม่พึงฉันให้อิ่มเกินไป ไม่พึงฉันให้น้อยเกินไป
พึงฉันแต่พอประมาณ พึงมีสติอยู่
[983] พึงเลิกฉันก่อนอิ่ม 4-5 คำ แล้วดื่มน้ำ
เท่านี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน

เชิงอรรถ :
1 นิพพาน (ขุ.เถร.อ. 2/980/407)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :500 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 2. สารีปุตตเถรคาถา
[984] อนึ่ง การนุ่งห่มจีวรที่สมควร ซึ่งเป็นประโยชน์
นี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน
[985] เมื่อภิกษุนั่งขัดสมาธิในกุฎีใด ฝนตกไม่เปียกเข่าทั้งสอง
กุฎีเท่านี้ ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน
[986] ภิกษุใดพิจารณาเห็นสุขโดยความเป็นทุกข์
เห็นทุกข์เป็นเหมือนลูกศรคอยทิ่มแทงได้
ภิกษุนั้น ไม่ได้มีความยึดมั่นในอทุกขมสุขเวทนาทั้ง 2 นั้น
ว่าเป็นของเนื่องในตน
เธอจะพึงถูกกิเลสอะไรผูกมัดไว้ในโลกได้อย่างไร
[987] ภิกษุผู้มีความปรารถนาลามก
เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
มีการเล่าเรียนน้อย ไม่เอื้อเฟื้อ
อย่าได้มีในสำนักเรา ในกาลไหน ๆ เลย
(เพราะ)คนเช่นนั้นในสัตวโลก
จะพึงสอนแบบไหนอย่างไรได้
[988] ส่วนภิกษุผู้เป็นพหูสูต มีปัญญา
ตั้งมั่นดีในศีล ประกอบความสงบใจเนือง ๆ อยู่
ขอจงมาสถิตอยู่บนกระหม่อมของเราเถิด
[989] ภิกษุใดประกอบธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า1อยู่เนือง ๆ
มีใจยินดีในธรรมเป็นเหตุให้เนิ่นช้า
ภิกษุนั้น ชื่อว่าพลาดจากนิพพาน
ซึ่งเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม

เชิงอรรถ :
1 ความยินดีในกามและความติดในรูปเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. 2/989/441)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :501 }